หน่วยที่ 1 ภูมิปัญญาไทย

    ภูมิปัญญาไทย ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ความสามารถ วิธีการผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนไทย ล้วนมีการทำมาหากินที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ มีผู้นำที่มีความรู้ มีฝีมือทางช่าง สามารถคิดประดิษฐ์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ผู้นำเหล่านี้ เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ทรงภูมิปัญญาไทย


        ภูมิปัญญาเหล่านี้เสริมสร้างคุณลักษณะแก่สังคมไทย ให้รู้จักการผ่อนสั้น ผ่อนยาว ผ่อนหนักให้เป็นเบา ผ่อนร้ายให้กลายเป็นดี มีความมัธยัสถ์อดออม จนเกิดเป็นความมั่นคงในทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ แบบพึ่งพาตนเอง ได้ในลักษณะแบบพอมีพอกิน สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ เพื่อการพัฒนาประเทศ ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมไปจนถึงมี ระบบการจัดการด้านทรัพยากรดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ แหล่งน้ำอย่างทรงประสิทธิภาพ

ภูมิปัญญาชาวบ้าน พื้นความรู้ความสามารถที่ได้รับการสั่งสมถ่ายทอดกันมา และนำมาปรับใช้รวมกับความรู้ และประสบการณ์ของตนเอง ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำมาหากิน ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำนา ทำสวน ทำไร่ จับสัตว์น้ำ ทอผ้า ค้าขาย

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการรักษาโรค ภูมิปัญญาที่ใช้ในการดูแลรักษา และแก้ปัญหาสุขภาพ เช่น การใช้สมุนไพรเป็นยาและอาหาร พืชสมุนไพร หมอพื้นบ้าน และการแพทย์แผนโบราณ

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการกินอยู่ ภูมิปัญญาที่ใช้ในการถนอมอาหาร การปรุงอาหาร การกินอาหาร

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศิลปกรรม ภูมิปัญญาที่ปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และนาฏกรรม

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านภาษาและวรรณกรรม ภูมิปัญญาที่ปรากฏในผลงานสร้างสรรค์ด้านภาษาและสำนวนไทย เช่น คำผญา คำสอน ความเชื่อ ปริศนาคำทาย และ บทเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงแหล่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงฉ่อย กลอนลำ เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาที่ใช้ในการปรับประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความมั่นคงของชุมชน ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ประเพณีการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ฯลฯ

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เช่น การสร้างเขื่อน เหมือง ฝาย การควบคุมคุณภาพน้ำ การป้องกัน น้ำท่วม การจัดการป่าไม้ เช่น การปลูกสวนป่า และการอนุรักษ์ป่า

ภูมิปัญญาไทยสามารถแบ่งได้เป็น 10 สาขาดังนี้
  • 1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้
  • 2. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้
  • 3. สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
  • 4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
  • 5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุม
  • 6. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
  • 7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
  • 8. สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถพัฒนา และบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาท และหน้าที่ขององค์การ เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
  • 9. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษาทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้ง ด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรต หนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น
  • 10. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม
 คุณสมบัติของผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
          ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อยดังต่อไปนี้
          (๑) เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่างๆ มีผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงวิถีชีวิตโดยตลอด
          (๒) เป็นผู้คงแก่เรียนและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ผู้ทรงภูมิปัญญาจะเป็นผู้ที่หมั่นศึกษา แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่งเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นผู้ลงมือทำโดยทดลองทำตามที่เรียนมา อีกทั้งลองผิดลองถูก หรือสอบถามจากผู้รู้อื่นๆ จนประสบความสำเร็จเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เป็นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาปรับปรุงรับใช้ชุมชนและสังคมอยู่เสมอ
          (๓) เป็นผู้นำของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สังคมในแต่ละท้องถิ่นยอมรับให้เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำของท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
          (๔) เป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาล้วนเป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่นเอาใจใส่ ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและบุคคลทั่วไป
          (๕) เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ผู้ทรงภูมิ-ปัญญาเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ลงมือทำงานและผลิตผลงานอยู่เสมอ ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
          (๖) เป็นนักปกครองและประสานประโยชน์ของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญานอกจากเป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไปแล้ว ผลงานที่ท่านทำยังถือว่ามีคุณค่า จึงเป็นผู้ที่มีทั้ง "ครองตน ครองคนและครองงาน" เป็นผู้ประสานประโยชน์ให้บุคคลเกิดความรัก ความเข้าใจความเห็นใจและมีความสามัคคีกัน ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นหรือสังคมมีความเจริญ มีคุณภาพชีวิตสูงขึ้นกว่าเดิม
          (๗) มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นเลิศ เมื่อผู้ทรงภูมิปัญญามีความรู้ ความ
สามารถ และประสบการณ์เป็นเลิศ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและบุคคลทั่วไป ทั้งชาวบ้านนักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา โดยอาจเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือเชิญท่านเหล่านั้นไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้
          (๘) เป็นผู้มีคู่ครองหรือบริวารดี ผู้ทรงภูมิปัญญา ถ้าเป็าคฤหัสถ์จะพบว่า ล้วนมีคู่ครองที่ดีที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือในงานที่ท่านทำ ช่วยให้ผลิตผลงานที่มีคุณค่า ถ้าเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดต้องมีบริวารที่ดี จึงจะสามารถผลิตผลงานที่มีคุณค่าทางศาสนาได้
          (๙) เป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญจนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญรวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานพิเศษใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ  

คุณค่าของภูมิปัญญาไทย
ทางด้านการสร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทย
        คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฏในประวัติศาสตร์มีมาก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทยที่มีฝีมือเก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน ทุกท่าของแม้ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทย จนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบันมวยไทยก็ยังถือว่า เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่นิยมฝึก และแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทยจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ในการที่จะใช้กติกาของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออกคำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ เช่น คำว่า "ชก" "นับหนึ่งถึงสิบ" เป็นต้น ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย เช่น มรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่าเป็น วรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรม หลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น

ยาไทย ภูมิปัญญาไทย
      การแพทย์แผนไทย เป็นการรวมศาสตร์เกี่ยวกับบำบัดโรค ทั้งการใช้ยาสมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกและโครงสร้าง โดยอิงกับความ เชื่อทางสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ เป็นความรู้ที่ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับหมอรักษาวิธีใดได้ผลก็ใช้วิธีนั้นสืบต่อกันมา
        ยาไทยมาจากส่วนผสม 4 ประเภท คือ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ เช่น เกลือสมุทร กำมะถัน ทองคำ ดินปะสิว และจุลชีพ เช่น เห็ด รา โดยแพทย์หรือผู้จ่ายยาต้องรู้ลักษณะ สี กลิ่น รส ชื่อของสิ่งที่นำมาใช้ ประเภทและอาการของโรคอย่างดีก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ นอกจากนี้วิธีการปรุงยาก็มีหลายวิธีด้วยกันตามรูปแบบของยา เช่น กิน อาบ ดื่ม พอก หรือแช่ เป็นต้น