หน่วยที่ 3 มามีส่นร่วมกันเถอะ


การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย          การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยสามารถปฏิบัติได้หลายวิธีดังต่อไปนี้


          1.  จัดให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยจากคนรุ่นเก่าสู่คนรู่นใหม่  เช่น  การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านทั้งลำตัด  เพลงฉ่อย  เพลงเรือ  ด้วยการจัดชมรมประจำท้องถิ่น  หรือการเชิญพ่อเพลงแม่เพลงในชุมชนมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง  หรือจัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียน  เป็นต้น


          2.  เปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคมที่ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย  เช่น  ควรส่งเสริมการศึกษาและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทย  เช่น  ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร  จังหวัดปราจีนบุรี  ได้นำสมุนไพรต่าง ๆ มาสกัดเป็นยารักษาโรค  เครื่องสำอาง  ขายให้กับประชาชนทั้วไป  เป็นต้น


          3.  ร่วมกันทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดแสดงหรือรณรงค์เป็นบางช่วงเท่านั้น  เช่น  บางท้องถิ่น  บางหน่วยงานรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นหรือในหน่วยงานแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าพื้นเมือง  ก็ควรหาแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับคนทุกวัย  ทุกสาขาอาชีพ  ราคาย่อมเยา  ไม่ควรให้คนรุ่นใหม่คิดว่าการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเป็นความเชย  ดูแลรักษายาก  ราคาแพง  และเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะผู้สูงอายุหรือใช้แต่งเฉพาะเวลามีงานสำคัญเท่านั้น


          4.  สร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  เช่น  ส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชนรักษากิริยามารยาทแบบไทย  เช่น  มีสัมมาคารวะ  เคารพผู้ใหญ่  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  และรักนวลสงวนตัว  รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน  เช่น  รณรงค์ให้พูดออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน  ไม่พูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ  เป็นต้น

วิถีชีวิตของคนชนบท

     ความยากจนที่เกิดกับคนชนบทในแต่ละภาคนั้น คนชนบทได้มีการช่วยเหลือตนเองให้อยู่รอดด้วยการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยการโยกย้ายออกจากท้องถิ่นมารับจ้างทำงานในเขตที่มีความเจริญ เช่น ในเขตเกษตรก้าวหน้า โดยการรับจ้างทำงานในไร่นา ในปัจจุบันประเพณีดั้งเดิมของคนชนบทที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดำนาและเกี่ยวข้าว ที่เรียกกันว่า "ลงแขก" คือ เพื่อนบ้านช่วยกันทำงานในไร่นาซึ่งกันและกันเพื่อให้งานเสร็จทันเวลา โดยไม่คิดค่าจ้างแต่อย่างใดนั้น ได้เลิกไปแล้วเกือบทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตต้องอาศัยเงินมากขึ้น จึงต้องทำโดยการรับจ้าง ส่วนบางคนก็เข้าสู่ตัวเมืองหรือกรุงเทพฯ แล้วทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ทอผ้า ผลิตอาหารกระป๋อง หรือการรับจ้างทั่วไปในร้านอาหาร ภัตตาคาร บ้านที่อยู่อาศัย หรือเป็นกรรมกรแบกหาม ขับรถรับจ้าง ฯลฯ คนชนบทจึงเข้าปะปนกับคนเมือง วิถีชีวิตของคนชนบทก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมของเมือง ดำเนินชีวิตแบบคนเมือง เช่น ฟังวิทยุ และมีการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยมากขึ้น การกินอยู่ก็ได้กินอาหารที่มีคุณค่ามากขึ้น เครื่องใช้ เช่น พัดลม และวิทยุ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขามากขึ้น ความนิยมในเพลงลูกทุ่งเริ่มเข้าแทนที่การละเล่นพื้นบ้าน เช่น หมอลำ โปงลาง หรือลิเก 


     ในขณะเดียวกันความเป็นอยู่ของคนเมืองจะได้รับการนำเข้าไปสู่ชนบท เมื่อมีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงท้องถิ่นชนบทนั้น คนชนบทที่มีฐานะดีพอสมควร ก็มีความต้องการสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับที่คนในเมืองใช้ เช่น ใช้เตารีดไฟฟ้าแทนเตารีดถ่าน นุ่งกางเกงยีนส์แทนการนุ่งกางเกงชาวนาหรือผ้าถุง สวมรองเท้า ไม่เดินเท้าเปล่า สูบบุหรี่มวนแทนยาเส้น หุงข้าวทำกับข้าวโดยใช้เตาถ่าน ที่ฐานะดีหน่อยก็ใช้เตาแก๊ส ใช้รถจักรยานยนต์แทนจักรยาน รู้จักการใช้ส้วมซึมแทนส้วมหลุม เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหมอที่สถานีอนามัย โรงพยาบาล หรือคลินิก ฯลฯ


     แต่ก็ยังมีชนบทที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง ห่างไกลจากความเจริญ วิถีการดำเนินชีวิตก็ยังเป็นแบบเดิม เนื่องจากความยากจนซึ่งปรากฏอยู่ในภาคต่างๆ ดังกล่าวไว้แล้ว คนชนบทยากจนเหล่านี้ไม่มีรายได้เหลือพอที่จะซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่อาหารการกินที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาศัยสมุนไพร เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากสถานีอนามัย การดำรงชีวิตของเขาจะพึ่งธรรมชาติเป็นสำคัญ การทำการเกษตรเป็นแบบพึ่งน้ำฝน ปีใดฝนไม่ตกตามฤดูกาล ปีนั้นพืชผลก็เสียหาย ทำให้ไม่มีข้าวพอกิน พืชผล เช่น ปอ ข้าวโพด เสียหาย รายได้จากการขายพืชผลเหล่านี้ก็ลดลง เงินที่จะไปซื้อข้าวปลาอาหารก็น้อยลง ต้องได้รับความอดอยากขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อชีวิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนชนบทเองและคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือกันและให้ความช่วยเหลือให้ชนบทยากจนส่วนนี้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความพออยู่พอกิน ไม่ต้องอดอยากหิวโหยต่อไป เพราะคนชนบทยากจนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ยังอ่อนแอประเทศชาติก็จะขาดความมั่นคง

 แนวทางและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

การอนุรักษ์ คือ การบำรุงรักษาสิ่งที่ดีงามไว้
  • การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์ เช่น การรื้อฟื้นดนตรีไทย
  • การประยุกต์ คือ การปรับ หรือการผสมผสานความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับสมัยใหม่ เช่น การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ประสานกับการรักษาสมัยใหม่ การทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อให้คนร่วมมือกันอนุรักษ์